วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2561

บทที่ 3 ระบบย่อยอาหาร

                                                   บทที่ 3 ระบบย่อยอาหาร

ระบบย่อยอาหาร หรือระบบทางเดินอาหาร ฟังแค่ชื่อก็พอเข้าใจอยู่แล้วใช่ไหมคะว่ามีหน้าที่ลำเลียงอาหารเข้าสู่ร่างกาย และก็ต้องย่อยอาหารที่เราทานเข้าไปให้มีขนาดเล็กจนส่งผ่านเซลล์เข้าไปหล่อเลี้ยงร่างกายของเราได้ แต่กว่าที่ร่างกายจะได้รับสารอาหารได้นั้น อวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ในระบบย่อยอาหารก็ต้องช่วยกันทำหน้าที่หลายแรงแข็งขัน ซึ่งหากอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่เต็มที่ รับรองว่าอาการป่วยถามหาแน่ ๆ

ระบบย่อยอาหาร
          เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคงต้องมาดูแลระบบย่อยอาหารกันให้มากขึ้นแล้วล่ะ แต่ก่อนที่เราจะดูแลระบบย่อยอาหารได้ดีนั้น ก็ควรจะรู้จักก่อนว่าระบบย่อยอาหารของเรามีอวัยวะใดบ้าง และทำงานกันอย่างไร เรื่องสุขศึกษาที่ใกล้ตัวของเราแบบนี้น่าสนใจทีเดียวค่ะ

ทำไมร่างกายต้องย่อยอาหาร ?

          อย่างที่ทราบกันว่า ร่างกายของมนุษย์ต้องการสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย แต่อาหารที่เราทานเข้าไป ทั้งโปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน ล้วนแล้วแต่มีโมเลกุลขนาดใหญ่เกิดกว่าที่เซลล์และเนื้อเยื่อของเราจะดูดซึมเข้าไปได้ ดังนั้น นี่จึงเป็นหน้าที่สำคัญของระบบย่อยอาหาร หรือระบบทางเดินอาหาร ที่จะย่อยอาหารต่าง ๆ ให้เล็กลงจนลำเลียงเข้าสู่เยื่อหุ้มเซลล์ได้

          มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่า เอ...แล้วโมเลกุลของสารอาหารต้องเล็กขนาดไหนจึงจะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ คำตอบก็คือ สารอาหารต้องถูกย่อยจนกลายเป็นสารโมเลกุลเดี่ยว คือ
          - คาร์โบไฮเดรต กลายเป็น กลูโคส (เดกซ์โทรส), ฟรักโทส, กาแลกโทส

          - โปรตีน กลายเป็น กรดอะมิโน

          - ไขมัน กลายเป็น กรดไขมัน กลีเซอรอล

          ส่วนวิตามินและเกลือแร่นั้น มีโมเลกุลขนาดเล็กอยู่แล้ว เมื่อเข้าสู่ร่างกายก็สามารถดูดซึมเข้าไปใช้ได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยอาหาร 

          และอย่างที่รู้ว่า อาหารทุกชนิดที่เราทานเข้าไปเมื่อผ่านกระบวนการย่อยอาหารเสร็จสิ้นแล้ว สารอาหารจะถูกดูดซึมกลับไปเป็นพลังงานให้ร่างกาย ส่วนที่เหลือคือกากอาหารจะถูกขับออกมาเป็นอุจจาระ ดังนั้น เราจำเป็นต้องขับถ่ายของเสียเหล่านี้ออก เพราะหากปล่อยให้ของเสียสะสมนานเกินไป อาจเกิดอาการท้องอืด หรือท้องผูก จนถึงขั้นเป็นริดสีดวงทวารได้

ระบบย่อยอาหารทำงานอย่างไร ?

          ปกติแล้วตั้งแต่ที่เราทานอาหารเข้าปาก ไปจนถึงออกทางทวารหนัก ระบบย่อยอาหารจะต้องใช้เวลาทำงานประมาณ 16-28 ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร และเพื่อทำให้โมเลกุลของสารอาหารเล็กลงอันจะทำให้ร่างกายนำไปใช้ได้ทันที ก็ต้องมีกระบวนการย่อย ซึ่งร่างกายเราจะใช้การย่อย 2 วิธีคือ

           1. การย่อยเชิงกล (Mechanical Process) เกิดจากการเคลื่อนไหวของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร ทั้งการบดเคี้ยวด้วยฟัน หรือการบีบตัวของทางเดินอาหาร เช่น การรีดอาหารลงไปในหลอดอาหาร, การเคลื่อนไหวของกระเพาะอาหาร และการเคลื่อนไหวของลำไส้ 

           2. การย่อยเชิงเคมี (Chemical Process) คือการเปลี่ยนแปลงขนาดโมเลกุลของสารอาหารโดยอาศัยเอนไซม์ หรือน้ำย่อยที่เกี่ยวข้อง ทำให้โมเลกุลของสารอาหารเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเคมีกลายโมเลกุลที่มีขนาดเล็กลง  
 
อวัยวะที่อยู่ในระบบย่อยอาหารมีอะไรบ้าง มีหน้าที่อย่างไร ?

          โดยทั่วไปทางเดินอาหารของมนุษย์จะมีความยาวประมาณ 7 เมตรครึ่ง หรือ 25 ฟุต ประกอบด้วยอวัยวะมากมายที่ทำงานกันอย่างเป็นระบบ ซึ่งแต่ละอวัยวะก็มีหน้าที่ดังนี้

ช่องปาก

* ปาก (Mouth)

          ปากคือด่านแรกของระบบย่อยอาหาร เพราะเมื่อเราหยิบอาหารเข้าปาก อวัยวะภายในช่องปากก็จะเริ่มช่วยกันย่อยอาหารทันที คือ

          ฟัน จะทำหน้าที่บดเคี้ยวอาหารให้เล็กลง มนุษย์เราจะมีฟัน 2 ชุด ชุดแรก เรียกฟันน้ำนม มี 20 ซี่ ส่วนชุดที่ 2 เรียกฟันแท้ มี 32 ซี่ แต่บางคนอาจมีน้อยกว่านั้น เนื่องจากฟันขึ้นไม่ครบ

          น้ำลาย ในช่องปากนั้นมีต่อมน้ำลาย 3 คู่ สามารถผลิตน้ำลายได้วันละประมาณ 1-1.5 ลิตร โดยต่อมน้ำลายที่ใหญ่ที่สุดอยู่ข้างกกหู ในน้ำลายนั้นจะมีเอนไซม์ "อะไมเลส" หรือ ไทยาลีน" ที่ช่วยย่อยแป้งให้เป็นเดกซ์ทริน (Dextrin) ซึ่งเป็นคาร์โบไฮเดรตที่มีโมเลกุลเล็กกว่าแป้ง แต่ใหญ่กว่าน้ำตาล และถูกย่อยต่อไปจนเป็นน้ำตาลโมเลกุลคู่ คือ น้ำตาลมอลโทส (maltose) นอกจากนี้ น้ำลายยังช่วยให้อาหารอ่อนตัว เพื่อกลืนอาหารได้ง่ายขึ้น

          ลิ้น ทำหน้าที่รับรสชาติของอาหาร เกลี่ยอาหารให้ฟันบด คลุกเคล้าอาหารให้เป็นก้อน เพื่อสะดวกในการกลืนอาหาร

คอหอย (Pharynx) 

          เป็นท่ออยู่หลังหลอดลมและปาก ทำหน้าที่เป็นทางผ่านของอาหารจากปากไปยังหลอดอาหาร ตรงส่วนนี้ไม่มีการย่อยใด ๆ เกิดขึ้น

หลอดอาหาร (Esophagus) 

          เป็นกล้ามเนื้อเรียบอยู่ต่อจากคอหอย มีความยาวประมาณ 23-25 เซนติเมตร ทำหน้าที่คอยรับอาหารจากคอหอยส่งต่อไปยังกระเพาะอาหาร ในลักษณะการบีบรัดกล้ามเนื้อเป็นลูกคลื่น เรียกว่า "เพอริสตัสซิส (peristalsis)" เพื่อไล่ให้อาหารเคลื่อนที่ลงสู่กระเพาะอาหาร 


กระเพาะอาหาร

กระเพาะอาหาร (Stomach) 

          มีลักษณะเป็นถุงใหญ่ มีขนาด 50 ลูกบาศก์เซนติเมตร แต่หากทานอาหารเข้าไปจะสามารถขยายตัวได้ถึง 10-40 เท่า โดยภายในกระเพาะอาหารจะมีลักษณะเป็นลูกคลื่น และใช้วิธีบีบตัวเพื่อทำให้อาหารคลุกเคล้ากับน้ำย่อยที่ผลิตออกมาช่วยย่อยอาหาร ก่อนจะส่งผ่านอาหารต่อไปยังลำไส้เล็ก

          ในกระเพาะอาหารนั้นจะมีการสร้างเอนไซม์อยู่หลายชนิด ประกอบด้วย

          1. กรดเกลือ หรือ กรดไฮโดรคลอริก (hydrochloric acid : HCI) ช่วยทำให้กระเพาะมีสภาพเป็นกรด เหมาะแก่การทำงานของน้ำย่อย ช่วยทำให้อาหารอ่อนตัว ช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก และหน้าที่สำคัญคือ เปลี่ยน "เพปซิโนเจน" ซึ่งเป็นน้ำย่อยที่ไม่มีฤทธิ์ ให้กลายเป็น "เพปซิน" ที่จะช่วยย่อยโปรตีนจากพืชและสัตว์ให้เป็น "เปปไทด์" ซึ่งมีโมเลกุลขนาดเล็กลงได้ (แต่ยังไม่เล็กพอที่จะแพร่เข้าสู่เซลล์ ต้องไปย่อยต่อที่ลำไส้เล็ก)

          2. เพปซิโนเจน (pepsinogen) เป็นน้ำย่อยที่ไม่มีฤทธิ์ ต้องไปรวมกับกรดเกลือก่อนจึงจะกลายเป็นน้ำย่อย "เพปซิน" ช่วยย่อยโปรตีนได้

          3. โพรเรนนิน (Prorennin) หากผสมกับกรดเกลือจะกลายเป็น "เรนนิน" (rennin) ช่วยย่อยโปรตีนในนมให้กลายเป็นเคซีน แล้วไปรวมตัวกับแคลเซียม ก่อนจะถูกเพปซินย่อยต่อไป สำหรับผู้ใหญ่ไม่มีน้ำย่อยนี้ หรือมีน้อย จะเกิดอาการท้องเสียเมื่อดื่มนม 

          4. มิวซิน (mucin) มีหน้าที่เคลือบกระเพาะทําให้ความเป็นกรดลดลง

          5. แกสทริกไลเปส (gastric lipase) เป็นน้ำย่อยช่วยย่อยไขมัน แต่สร้างออกมาในปริมาณที่น้อยมาก เพราะสภาพเป็นกรดของกระเพาะอาหาร

          6. อินทรินสิกแฟคเตอร์ (intrinsic factor) ช่วยดูดซึมวิตามินบี 12

          7. แกสตริน (Gastrin) เป็นฮอร์โมนที่สร้างจากเซลล์ในกระเพาะอาหาร ทำหน้าที่กระตุ้นให้เซลล์กระเพาะอาหารที่สร้างน้ำย่อย และกรดไฮโดรคลอริก หลั่งเอนไซม์หรือน้ำย่อยและกรดไฮโดรคลอลิกออกมาย่อยอาหาร

          หากเราทานอาหารเข้าไปแล้ว เมื่ออาหารถูกส่งถึงกระเพาะอาหาร ก็จะใช้เวลาย่อยอาหารภายในกระเพาะอาหาร ประมาณ 2-4 ชั่วโมง จะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร และการบีบตัวของกระเพาะอาหารด้วย เมื่อย่อยอาหารเสร็จสิ้น ก็จะส่งอาหารต่อไปยังลำไส้เล็ก โดยมีกล้ามเนื้อหูรูดกระเพาะอาหารตอนล่างคอยปิดกั้นไม่ให้น้ำดีไหลย้อนกลับเข้ามาในกระเพาะอาหาร 

          ทั้งนี้ ในกระเพาะอาหารนั้นจะไม่สามารถดูดซึมสารอาหารได้ ยกเว้นพวกแอลกอฮอล์ ยาบางชนิดที่เป็นกรดและน้ำ ที่กระเพาะอาหารอาจดูดซึมได้ แต่ก็ไม่เกินร้อยละ 30 โดยส่วนที่เหลือจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก


ลำไส้เล็ก

ลำไส้เล็ก (Small Intestine) 

          มีความยาวประมาณ 7 เมตร ขดไปมาอยู่ภายในช่องท้องส่วนบน แบ่งออกเป็น 3 ตอน คือ 

          ลำไส้เล็กตอนต้น (Duodenum) ยาวประมาณ 30 เซนติเมตร มีต่อมสร้างน้ำย่อยและเป็นตำแหน่งที่รับของเหลวจากตับอ่อน และน้ำดีจากตับ จึงเป็นส่วนที่มีการย่อยอาหารเกิดขึ้นมากที่สุด แต่จะสามารถดูดซึมอาหารได้บางชนิดเท่านั้น

          ลำไส้เล็กตอนกลาง (Jejumnum) ยาวประมาณ 2.5 เมตร ทำหน้าที่ดูดซึมอาหาร

          ลำไส้เล็กตอนปลาย (Ileum) เป็นส่วนที่ยาวที่สุดคือยาวประมาณ 4 เมตร ทำหน้าที่ดูดซึมอาหาร

          ลำไส้เล็กเป็นอวัยวะสำคัญของระบบย่อยอาหาร เพราะอาหารส่วนใหญ่จะถูกย่อยและดูดซึมในลำไส้เล็กนี้ ดังนั้น ผนังของลำไส้จึงมีลักษณะขรุขระเป็นปุ่ม ๆ ไม่เรียบเรียกว่า "วิลลัส" (Villus) มีลักษณะคล้ายนิ้วมือยื่นออกมาจากผนังลำไส้เล็ก หรือเรียกว่า "ปุ่มซึม" มีประมาณ 5 ล้านอัน ทำหน้าที่เพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมอาหาร ภายในปุ่มมีเส้นเลือดฝอยมากมาย เพื่อรับอาหารที่ถูกย่อยแล้วดูดซึมเข้ามา


ลำไส้เล็ก
ภาพจำลอง "วิลลัส" ในลำไส้เล็ก


          ทั้งนี้ ก่อนลำไส้เล็กจะดูดซึมอาหารก็ต้องผ่านกระบวนการย่อยเสียก่อน โดยลำไส้เล็กจะสร้างเอนไซม์ออกมาช่วยย่อยแป้งให้มีโมเลกุลขนาดเล็กที่สุดพอที่จะเซลล์ต่าง ๆ จะดูดซึมนำกลับไปใช้ในร่างกายได้ คือ

          มอลเทส (Maltase) เป็นเอนไซม์ที่ผลิตออกมาย่อยน้ำตาลมอลโทสให้เป็นกลูโคส

          ซูเครส (Sucrase) เป็นเอนไซม์ที่ผลิตออกมาย่อยน้ำตาลทราย หรือน้ำตาลซูโครส (Sucrose) ให้เป็นกลูโคสกับฟรักโทส (Fructose)

          แลกเทส (Lactase) เป็นเอนไซม์ที่ผลิตออกมาย่อยน้ำตาลแลกโทส (Lactose) ให้เป็นกลูโคสกับกาแลกโทส (Galactose)    

          อย่างไรก็ตาม นอกจากเอนไซม์ที่ลำไส้เล็กผลิตขึ้นมาย่อยอาหารแล้ว ลำไส้เล็กยังต้องอาศัยเอนไซม์ที่ตับอ่อนผลิตขึ้นมาย่อยสารอาหารประเภทอื่นด้วยเช่นกัน คือ 

          ทริปซิน (Trypsin) เป็นเอนไซม์ที่ย่อยโปรตีน หรือเปปไทด์ (ที่ถูกกระเพาะอาหารย่อยมาแล้ว) ให้เป็นกรดอะมิโน

          อะไมเลส (Amylase) เป็นเอนไซม์ที่ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว

          ไลเปส (lipase) เป็นเอนไซม์ที่ย่อยไขมันให้เป็นกรดไขมันและกลีเซอรอล
   
          และไม่ใช่แค่ตับอ่อนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมี "ตับ" ที่จะช่วยผลิต "น้ำดี" ออกมา แล้วไปเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี (gall bladder) เมื่อกระบวนการย่อยเริ่มขึ้น น้ำดี ก็จะเข้าไปในลำไส้เล็กช่วยย่อยไขมันให้แตกตัว อย่างไรก็ตาม การย่อยไขมันของน้ำดีนั้นถือเป็นการย่อยเชิงกล เพราะไม่ได้เปลี่ยนคุณสมบัติทางเคมีของไขมัน เพียงแค่ทำให้โมเลกุลของไขมันเล็กลงเท่านั้น และ "น้ำดี" ก็ไม่จัดว่าเป็นเอนไซม์ด้วย เนื่องจากไม่ใช่สารประกอบประเภทโปรตีน

          เมื่อผ่านกระบวนการย่อยอาหารในลำไส้เล็กเสร็จสิ้นแล้ว อาหารที่ถูกย่อยจนเป็นโมเลกุลเล็กที่สุดจะถูกดูดซึมที่ลำไส้เล็ก ประมาณ 95% ผ่าน "วิลลัส" หรือ "ปุ่มซึม" ซึ่งการดูดซึมอาหารในลำไส้เล็กผ่านปุ่มซึมจะมี 2 ทาง คือ

          1. ระบบเส้นเลือด จะดูดซึมกรดอะมิโน น้ำตาลชั้นเดียว เช่น น้ำตาลกลูโคส และไขมันเพียงส่วนน้อยประมาณ 1 ใน 3 ของไขมันทั้งหมดผ่านเข้าทางหลอดเลือดฝอยของปุ่มซึม จากนั้นจะเข้าสู่เส้นเลือดดำ และไปยังตับ ก่อนจะผ่านเข้าเส้นเลือดใหญ่ ไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย

          2. ระบบน้ำเหลือง จะดูดซึมไขมัน คือประมาณ 2 ใน 3 ของไขมันทั้งหมด และวิตามินที่ละลายในไขมันผ่านเข้าไปยังหลอดน้ำเหลืองใหญ่ในสำไส้เล็ก รวมทั้งดูดซึมคาร์โบไฮเดรต ไขมัน โปรตีน เกลือแร่ วิตามิน และน้ำ เข้าไปยังกระแสเลือดที่เส้นเลือดดำ


ลำไส้ใหญ่


ลำไส้ใหญ่ (Large Intestine) 

          เป็นหนึ่งในอวัยวะของระบบย่อยอาหาร แต่ไม่ได้มีหน้าที่ย่อยอาหาร เพราะลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่เก็บกากอาหาร ดูดซึมน้ำให้ออกจากกากอาหาร เหลือของเหลวไว้ประมาณ 150 มิลลิลิตร ส่วนที่เหลือจะถ่ายออกไปเป็นอุจจาระ โดยกากอาหารจะอยู่ในลำไส้ใหญ่นาน 12-24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ลำไส้ใหญ่ยังมีหน้าที่ดูดน้ำตาลกลูโคสที่ยังเหลืออยู่ในกากอาหารให้ดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือด

          การทำงานของลำไส้ใหญ่จะบีบตัวเป็นระลอก วันละ 3-4 ครั้ง เพื่อไล่อุจจาระไปตามลำไส้ตรง อุจจาระที่ลำไส้ตรงจะกระตุ้นหูรูดทวารหนักให้เปิดออก ทำให้เรารู้สึกปวดอุจจาระ อุจจาระที่ขับออกมาจะมีกลิ่นเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับว่าเราทานอะไรเข้าไป และขึ้นอยู่กับชนิดของแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ของแต่ละคนด้วย โดยแบคทีเรียที่อยู่ที่ในลำไส้ใหญ่นี้จะช่วยสร้างวิตามินเค และวิตามินบีหลายชนิด แต่แบคทีเรียก็จะทำให้กากอาหารจำพวกโปรตีนให้มีกลิ่นแรง ซึ่งกลิ่นเหล่านี้จะออกมากับการผายลมและอุจจาระ    

          ทั้งนี้ ในลำไส้ใหญ่ส่วนต้นจะมี "ไส้ติ่ง" (vermiform appendix) อยู่ ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่มีประโยชน์อะไรในมนุษย์ มีความยาวประมาณ 2-20 เซนติเมตร ไส้ติ่งในผู้ชายจะยาวกว่าผู้หญิงเล็กน้อย 

 ลำไส้ตรง (Rectum)

          เป็นส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ มีลักษณะเป็นท่อตรง ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร โดยมีกล้ามเนื้อหูรูด 2 อัน ควบคุมการเปิดปิดของทวารหนัก ทำหน้าที่เก็บกากอาหาร บริเวณนี้จะอุดมไปด้วยจุลินทรีย์และเซลลูโลส

ทวารหนัก (Anus)

          อวัยวะส่วนสุดท้ายของลำไส้ใหญ่ เป็นช่องแคบ ๆ ยาว 2.5-3.5 เซนติเมตร ทำหน้าที่ขับถ่ายอุจจาระ ภายในประกอบด้วยกล้ามเนื้อเรียบ และกล้ามเนื้อหูรูด 2 แห่ง คือ หูรูดภายใน (Internal Sphincter) และหูรูดภายนอก (External Sphincter) ซึ่งประกอบด้วยกล้ามเนื้อลาย ทำหน้าที่ปิดกักกากอาหารไว้ เมื่อต้องการขับถ่ายกากอาหารหูรูดเหล่านี้ก็จะหย่อนยอมให้กากอาหารผ่านออกไปได้

ตับ

          นอกจาก ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ แล้ว ยังมีอวัยวะอื่น ๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารด้วย ได้แก่

ตับ (Liver) และถุงน้ำดี (Gallbladder)

          หน้าที่ของตับที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารก็คือ "สร้างน้ำดี" ซึ่งเป็นน้ำสีเหลืองเขียว ที่จะช่วยย่อยไขมัน เมื่อสร้างน้ำดีแล้วก็จะส่งไปเก็บไว้ที่ "ถุงน้ำดี" ซึ่งมีรูปร่างคล้ายลูกแพร์ อยู่บริเวณพื้นล่างของตับ 

          ในช่วงที่ไม่มีการย่อยอาหาร ถุงน้ำดีจะขังน้ำดีเอาไว้ แต่เมื่ออาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กตอนต้น อาหารที่เป็นไขมันไปกระตุ้นให้เกิดการหลั่งฮอร์โมนเข้าสู่หลอดเลือด แล้วไปกระตุ้นให้กล้ามเนื้อถุงน้ำดีบีบตัวและปล่อยน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้น เพื่อย่อยไขมัน น้ำดีจะทำให้ไขมันแตกตัวเป็นเม็ดเล็ก ๆ เพื่อสะดวกต่อการย่อยและดูดซึม 

          นอกจากนั้น น้ำดียังทำหน้าที่ดูดซึมวิตามินเอและช่วยขับของเสียอื่น ๆ ออกจากร่างกาย หากถุงน้ำดีมีนิ่วเกิดขึ้นและอุดตัน เมื่อมีการบีบตัวจะเจ็บปวดรุนแรงมาก แพทย์จะต้องตัดถุงน้ำดีออก แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ตัดถุงน้ำดีออกแล้วก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติ เพราะน้ำดีสามารถไหลเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนต้นได้โดยตรง 

ตับอ่อน (Pancreas)

          หน้าที่สำคัญของตับอ่อนที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารก็คือ สร้างน้ำย่อยอันประกอบด้วยเอนไซม์หลายชนิดมาช่วยลำไส้เล็กย่อยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ให้มีขนาดเล็กลง จนสามารถซึมผ่านผนังของลำไส้เข้าสู่ร่างกายได้ ประกอบด้วยน้ำย่อยทริปซิน (ย่อยโปรตีน), อะไมเลส (ย่อยแป้ง) และไลเปส (ย่อยไขมัน)

          นอกจากนี้ ตับอ่อนยังสร้างสารโซเดียมไฮโดรเจนคาร์บอเนต ซึ่งมีฤทธิ์เป็นเบสอ่อนออกมาเ พื่อลดความเป็นกรดของอาหารที่มาจากกระเพาะอาหาร ส่วนหน้าที่ของตับอ่อนอีกประการที่ไม่เกี่ยวกับระบบย่อยอาหารก็คือ ช่วยสร้างฮอร์โมนหลายชนิด เช่น "อินซูลิน" ส่งเข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง 

ระบบย่อยอาหาร

สรุประบบการย่อยอาหารของมนุษย์

ปาก

          น้ำย่อยอะไมเลส ย่อยแป้ง > น้ำตาลมอลโตส

กระเพาะอาหาร

          น้ำย่อยเพปซิน ย่อยโปรตีน  > เปปไทด์

ลำไส้เล็ก

          น้ำย่อยมอลเทส ย่อยน้ำตาลมอลโทส > กลูโคส+กลูโคส

          น้ำย่อยซูเครส ย่อยน้ำตาลซูโครส > กลูโคส+ฟรักโทส

          น้ำย่อยแลกเทส ย่อยน้ำตาลแลกโทส > กลูโคส+กาแลกโทส 

          น้ำย่อยทริปซิน (รับมาจากตับอ่อน) ย่อยเปปไทด์ > กรดอะมิโน

          น้ำย่อยอะไมเลส (รับมาจากตับอ่อน) ย่อยแป้ง > น้ำตาลกลูโคส

          น้ำย่อยไลเปส (รับมาจากตับอ่อน) ย่อยไขมัน > กรดไขมันและกลีเซอรอล โดย "ตับ" จะส่ง "น้ำดี" มาช่วยตีไขมันให้แตกตัว เพื่อให้ง่ายต่อการย่อย


ปวดท้อง

ระบบย่อยอาหารไม่ดี เกิดจากอะไร ?

          หากเรารับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรคปนเปื้อน หรือทานอาหารประเภทใดประเภทหนึ่งมากเกินไป แถมยังไม่ทานผัก ผลไม้ ก็ไม่ต้องแปลกใจถ้าระบบย่อยอาหารของเราจะปั่นป่วน หรือมีอาการไม่สบายเกิดขึ้น 

          ทั้งนี้ ปัญหาของระบบย่อยอาหารโดยทั่วไปที่พบได้บ่อย ๆ และมีอาการไม่ร้ายแรงมาก ก็เช่น ปวดท้อง เพราะมีกรดในกระเพาะอาหารมากเกินไป, ปวดท้องเพราะมีลมหรือแก๊สในกระเพาะอาหารหรือลำไส้มากไป, อาหารไม่ย่อย, ท้องเสีย, ท้องร่วง, ท้องผูก, คลื่นไส้, อาเจียน, ริดสีดวง, โรคกระเพาะอาหาร, โรคกรดไหลย้อน, โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) ฯลฯ ซึ่งแต่ละอาการนั้นเกิดขึ้นได้จากสาเหตุต่าง ๆ มากมาย สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง

          ส่วนโรคที่เกิดกับระบบย่อยอาหารและมีอาการค่อนข้างรุนแรง การรักษายุ่งยากก็อย่างเช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร, โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่, กระเพาะทะลุ, หลอดเลือดทางเดินอาหารโป่งพอง, ไส้ติ่งอักเสบ, ไส้เลื่อน, นิ่วในถุงน้ำดี, ตับอักเสบ ฯลฯ

          สำหรับโรคระบบย่อยอาหารทั้งหมดที่สามารถเกิดขึ้นได้นั้น อ่านรายละเอียดทั้งหมดได้ที่ th.wikipedia.org 




อาหารเพื่อสุขภาพ

ระบบย่อยอาหารไม่ดี ทําอย่างไร มาดูแลระบบย่อยอาหารกัน !
          ได้ทำความเข้าใจกับเรื่องระบบย่อยอาหารแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะต้องมาดูแลระบบย่อยอาหารของตัวเองกันเสียที ด้วยวิธีดี ๆ ต่อไปนี้

          1. ดูแลสุขภาพของช่องปากและฟันอย่างสม่ำเสมอ

          2. เคี้ยวอาหารช้า ๆ เคี้ยวให้ละเอียด ก่อนกลืน เพื่อให้อาหารมีชิ้นเล็ก จะช่วยลดภาระในการย่อยอาหารของอวัยวะอื่น

          3. รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระเพาะอาหาร

          4. รับประทานอาหารที่สะอาด สด ถูกสุขลักษณะ 

          5. ในแต่ละมื้ออย่ารับประทานอาหารมากเกินไป เพราะจะทำให้ระบบย่อยอาหารต้องทำงานหนัก ควรรับประทานอาหารแต่พอควร

          6. อย่ารีบรับประทานอาหารขณะกำลังเหนื่อย

          6. รักษาสุขภาพจิตให้แจ่มใส อย่าเครียด เพราะความเครียดจะทำให้กรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมา จนเป็นโรคกระเพาะอาหารได้

          7. งดดื่มชา กาแฟ รวมทั้งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะสิ่งเหล่านี้ระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร จะไปกระตุ้นให้กรดในกระเพาะอาหารหลั่งออกมาได้

          8. ไม่รับประทานอาหารที่มีรสจัดจนเกินไป 

          9. รับประทานอาหารที่มีกากใยไฟเบอร์ เช่น ผัก ผลไม้ เม็ดแมงลัก เพื่อป้องกันท้องผูก

          10. ดื่มน้ำมาก ๆ จะช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดีขึ้น และยังป้องกันไม่ให้อุจจาระแข็งอันจะทำให้ขับถ่ายลำบาก

          11. พยายามฝึกตัวเองให้ขับถ่ายอุจจาระเป็นเวลา ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือ 05.00-07.00 น. เพราะเป็นเวลาที่ลำไส้ทำงาน

          12. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว จะช่วยให้อวัยวะภายในได้เคลื่อนไหวไปด้วย ซึ่งจะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น


          เห็นไหมว่าอวัยวะต่าง ๆ ของระบบย่อยอาหารมีการทำงานที่ประสานสอดคล้องกันอย่างน่ามหัศจรรย์ทีเดียว ดังนั้น เพื่อที่เราจะได้มีสุขภาพแข็งแรง ไร้โรคภัยไข้เจ็บมารบกวน ก็อย่าลืมดูแลระบบย่อยอาหารของเราให้ดีด้วยนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทที่ 3 ระบบย่อยอาหาร

                                                    บทที่ 3 ระบบย่อยอาหาร ระบบย่อยอาหาร หรือระบบทางเดินอาหาร ฟังแค่ชื่อก็พอเข้าใจอยู่...